กรมสุขภาพจิต ชี้ ข่าวนิสิตจุฬาฯ เป็นอุทาหรณ์ แนะหากแก้ไขปัญหาไม่ได้ ควรเปิดใจด้วยการหันไปปรึกษาคนอื่น และคนใกล้ชิดก็ควรหมั่นสังเกตอาการคนในครอบครัวด้วย
สืบเนื่องจากกรณีที่บัณฑิตสาว อักษรศาสตร์ เกียรตินิยมอันดับ 2 จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เครียดเหตุไปทำศัลยกรรมปากแล้วไม่สวย ผูกคอตายลาโลกที่บ้านพัก ก่อนรับปริญญาไม่กี่วัน ซึ่งรายงานข่าวดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกโซเชียลเน็ตเวิร์ค อย่างกว้างขวาง และตำหนิติเตียนตัวของผู้เสียชีวิตเอง รวมถึงสถาบันนั้น
ล่าสุด วันนี้ (4 กรกฎาคม) พญ.พรรณพิมล วิปุลากร ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการทำศัลยกรรมโดยทั่วไปว่ามี 3 ลักษณะ คือ
1. เป็นแฟชั่นทำตามเพื่อน กรณีนี้อาจเป็นการทำศัลยกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ
2. มีความรู้สึกว่าต้องแก้ไขบางส่วนในร่างกายเพราะไม่ชอบอย่างมาก ต้องทำให้ได้ ถ้าไม่ทำจะเป็นทุกข์ กรณีนี้ถือว่าเริ่มเป็นปัญหา
3.จะเริ่มหมกมุ่น คือ ทำมาแล้วไม่พอใจ มีปัญหาต่อสภาวะจิตใจค่อนข้างมาก อาจเป็นภาวะที่เรียกว่า หลงผิดเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง แม้จะทำศัลยกรรมซ้ำหลายครั้งก็ยังไม่พอใจ ยังไม่ดีพอ และเกิดภาวะซึมเศร้า เครียด เพราะคิดว่าทำแล้วไม่สวย ทั้ง ๆ ที่มันอาจจะดีแต่ไม่พอใจ ซึ่งกรณีของบัณฑิตสาวคนดังกล่าว ต้องดูว่าอยู่ในกลุ่มที่ 2 หรือ 3
พญ.พรรณพิมล ยังกล่าวอีกว่า การที่ในช่วงนี้มีข่าวการฆ่าตัวตายเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะสังคมตึงเครียดมากขึ้น มีเรื่องกดดันมากขึ้น หลายกรณีคนที่มีปัญหาฆ่าตัวตายมักอยู่กับตัวเอง คิดอะไรเอง พอไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และไม่มีทางออก ก็ใช้วิธีรุนแรง ทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตาย แทนที่จะปรึกษาคนใกล้ชิดหรือคนในครอบครัว ดังนั้นอยากฝากว่า หากแก้ไขปัญหาไม่ได้ ควรเปิดใจด้วยการหันไปปรึกษาคนอื่น ขณะเดียวกันคนใกล้ชิดก็ควรหมั่นสังเกตอาการคนในครอบครัวด้วย
ในขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์ซึ่งรู้จักกับผู้เสียชีวิต ได้ออกมาตอบโต้กับการรายงานข่าวที่ไม่เป็นธรรม โดยระบุว่า ตนรู้จักกับผู้ตายมา 2 ปีแล้ว โดยผู้ตายเป็นรุ่นพี่ของตน ซึ่งลักษณะนิสัยผู้ตายไม่ได้เป็นคนที่จะคิดสั้นอย่างนั้น อีกทั้งผู้ตายไม่ได้ไปทำศัลยกรรมความงามดังที่เป็นข่าว แต่เป็นเพียงการไปผ่าตัดฝีในปากเท่านั้น พร้อมทิ้งท้ายด้วยว่าผู้ตายเครียดเรื่องอื่นมานานมากแล้ว
ขณะที่ บุคคลอีกรายที่กล่าวว่ารู้จักผู้เสียชีวิตได้ออกมาวิจารณ์การรายงานข่าวเช่นกันว่า "เคยมาศึกษาไหมเค้าเป็นคนยังไง หรือถามพ่อแม่เขารึยังว่าเพราะเรื่องแค่นี้เหรอ ถ้าคนอยู่ในภาวะจิตตก ต่อให้คนรอบตัวเช่นรุ่นน้องไม่รู้ แต่อย่างน้อยคนในครอบครัวเขาก็ต้องรู้ นี่ไปเขียนให้ลูกเขาเสียครอบครัวเขาดูแย่ไปแล้ว อย่าวิจารณ์ว่าการศึกษาไม่ช่วยอะไร ขอร้องละ ความอดทน ภาวะการทนต่อแรงกดดันของแต่ละคนไม่เหมือนกัน"