พบแมลงวันพันธุ์ใหม่ ตัวเล็กสุดในโลกที่ไทย
ผู้เชี่ยวชาญพบแมลงวันชนิดใหม่ในไทยมีขนาดเล็กที่สุดในโลก 0.4 มิลลิเมตร วางไข่ในตัวมด ก่อนฟักตัวออกมา
เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เว็บไซต์ฟ็อกซ์นิวส์ รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญค้นพบแมลงวันชนิดใหม่ ซึ่งเป็นแมลงวันที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเทศไทย
โดย ไบรอัน บราวน์ ผู้เชี่ยวชาญจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติในลอสแองเจลิส เคาน์ตี สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ยืนยันการค้นพบแมลงวันพันธุ์จิ๋วดังกล่าว ได้เปิดเผยว่า แมลงวันตัวที่ถูกค้นพบนั้นเป็นเพศเมีย ซึ่งมีขนาดเล็กมากจนแทบจะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แม้จะเอามันไปวางบนแผ่นสไลด์ของกล้องจุลทรรศน์ก็ตาม
สำหรับแมลงวันพันธุ์ใหม่นี้มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า "ยูรีพลาเทีย นานักนีฮาลี (Euryplatea nanaknihali)" มีปีกสีเทาและมีความยาวเพียง 0.4 มิลลิเมตร เท่านั้น หรือเล็กกว่าเกลือหนึ่งหยิบมือเท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า ขนาดของแมลงวันชนิดนี้มีขนาดเพียงแค่ครึ่งเดียวเท่านั้นของแมลงดูดเลือดจำพวกริ้นน้ำเค็ม
จุดเด่นของแมลงวันชนิดนี้คือ จะเข้าไปวางไข่ในลำตัวมดขณะที่มดยังมีชีวิตอยู่ พอไข่ฟักตัว บรรดาตัวอ่อนก็จะคืบคลานไปยังส่วนหัวของมดแทน พร้อมกับดูดสารอาหารจากกล้ามเนื้อและสมองของมด ส่งผลให้มดสูญเสียการควบคุมร่างกาย จนในที่สุดหัวมดก็จะหลุดออกมา
หลังจากนั้น ตัวอ่อนจะอาศัยในหัวที่ขาดออกของมดตัวนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนจะเจริญเติบโตเต็มวัย นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า แมลงวันพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบใหม่นี้ มีพฤติกรรมวางไข่ตามตัวมดคล้ายกับ แมลงวันตัดหัวมด ที่พบในประเทศอิเควทอเรียลกินี ของทวีปแอฟริกาอีกด้วย