หาความจริงในวันสิ้นโลก 2012

 กำลังเป็นที่สนใจอย่างมากเลยทีเดียว... สำหรับวันที่ "21 ธันวาคม 2012" ที่ใกล้จะถึงนี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของปฏิทินมายา และเชื่อกันว่าเป็น "วันสิ้นโลก" ทั้งนี้ ทั่วโลกก็ต่างจับตามองเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยเฉพาะต่างประเทศที่ค่อนข้างตื่นตัวและให้ความสนใจอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีนักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ ต่างออกมาระบุว่า "วันสิ้นโลก" ไม่มีจริง และวันที่ 21 ธันวาคม ก็เป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่งเท่านั้น แต่ก็ยังมีบางคนที่เชื่อ และยังส่งต่อจดหมายลูกโซ่ ที่ระบุถึงเหตุการณ์ของ "วันสิ้นโลก" 5 รูปแบบแตกต่างกันไป
            เกี่ยวกับเรื่องนี้ ทางรายการ "เจาะข่าวเด่น" (10 ธันวาคม) จึงได้เชิญ อาจารย์สธน วิจารณ์วรรณลักษณ์ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาพูดคุยถึงเรื่องดังกล่าว

            โดยอาจารย์สธน ได้กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า... ตนได้จดหมายลูกโซ่ที่ระบุถึงข้อสันนิษฐานที่จะทำให้โลกแตก 5 ข้อ มาตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว ซึ่งพอมาถึงวันนี้ก็มีข้อมูลปรับเปลี่ยนไปเยอะมาก ส่วน 5 ข้อที่กล่าวนั้นมีดังนี้...

            - ดาวเคราะห์นิบิรุ จะพุ่งชนโลก
            - พายุสุริยะจะแตกตัว
            - สนามแม่เหล็กโลกกลับขั้ว
            - ดาวเคราะห์เรียงตัวกัน จนเกิดผลกระทบทำให้โลกแตก
            - โลกจะหลุดเข้าไปในหลุมดำ


            ทั้งนี้ ในวันที่ปฏิทินระบุว่า วันที่ 21 ธันวาคม จะเป็นวันสุดท้ายของโลก ซึ่งเหตุการณ์ทั้ง 5 เหตุการณ์ข้างต้นไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเกิดในวันดังกล่าว 

            อาจารย์สธน ระบุว่า จาก 5 เหตุการณ์นั้น มีเหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับภาพยนตร์ถึง 4 เรื่อง เรื่องแรกที่เราจะพูดถึงกันนั้นก็คือเรื่อง "ดาวเคราะห์นิบิรุ" ที่มีเรื่องราวคล้ายภาพยนตร์เรื่อง "อามาเกดอน" ทั้งนี้ ในจดหมายลูกโซ่ได้บันทึกว่า ดาวเคราะห์ดวงดังกล่าวจะเคลื่อนที่เข้ามาโดยที่โลกมองไม่เห็น และพุ่งชนโลกจนทำให้โลกแตกเหมือนกับเรื่องอามาเกดอนที่ดาวเคราะห์จะพุ่งชนเท็กซัส สหรัฐฯ แต่ในความเป็นจริงทางด้านฟิสิกส์แล้ว เมื่อดาวเคราะห์ หรือวัตถุใดเคลื่อนเข้ามาใกล้ระบบสุริยะ ก็จะทำให้ดาวเคราะห์ที่อยู่ในวงโคจรมีการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่น เหตุการณ์เมื่อสมัยปี 1846 ที่เราค้นพบดาวเนปจูน และปี 1930 ที่พบดาวพลูโต ซึ่งในขณะนั้นนักวิทยาศาสตร์และนักดาราศาสตร์ เห็นความเปลี่ยนแปลงของดาวเสาร์ และดาวพฤหัส จนทำให้เราทราบว่า มีดาวที่อยู่ต่อจากนั้นอีก 2 ดวง เพราะวงโคจรของดาวพฤหัสเกิดการขยับ และหากดาวพฤหัสเกิดการเปลี่ยนแปลงยังไงเราก็ต้องรู้อยู่แล้ว เพราะดาวพฤหัสทำหน้าที่เหมือนยามประตูของระบบสุริยะ และปกป้องระบบสุริยะส่วนใน ซึ่งหากมีดาวดวงใดที่เล็กกว่าดาวพฤหัส เคลื่อนที่เข้ามาใกล้ มันก็จะดึงเข้าไปหมด อาทิ เช่น ดาวหางต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งหากมีดาวเคราะห์นิบิรุจริง เราก็จะเห็นก่อนอย่างแน่นอน


            และนอกจากดาวพฤหัสที่ทำหน้าที่เหมือนยามให้กับระบบสุริยะแล้ว โลกของเรายังมียามเป็นกล้องอินฟาเรดจับคลื่นความร้อนที่มองไม่เห็น อีกทั้งยังมีนักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพ และมือสมัครเล่น คอยมอนิเตอร์จับตามองระบบสุริยะตลอด 24 ชั่วโมง โดยพวกเขาจะมีฮอตไลน์สายตรง สามารถโทรติดต่อให้มีการตรวจสอบได้ทันที หากพบเห็นสิ่งปกติอะไรในระบบสุริยะ

            ถ้าถามว่า เหลืออีก 11 วัน หากมีดาวเคราะห์นิบิรุจริง จะเคลื่อนที่มาถึงดาวดวงไหนแล้ว อาจารย์สธน กล่าวสั้น ๆ เพียงว่า... เคลื่อนที่มาได้แค่เพียงจินตนาการเท่านั้น แต่ทั้งนี้หากมาจริง ๆ เหมือนในหนังอามาเกดอน อย่างไรก็ไม่รอดเหมือนในหนังแน่นอน เพราะเราไม่สามารถระเบิดดาวเคราะห์ได้ ซึ่งหากระเบิดได้ก็ต้องใช้ยูเรเนียมเป็นตัน ๆ  ส่วนคำว่า "นิบิรุ" นั้น ตนคิดว่าเป็นการแปลความมาอย่างผิดเพี้ยน เพราะจริง ๆ แล้ว คำคำนี้อยู่ในบันทึกของชาวสุเมเรียน แถบตุรกี  ที่ชื่อว่า เอสแทค แต่ก็ไม่รู้ว่าคำคำนี้ มาโผล่ในบันทึกของชาวมายาที่อยู่ในกัวเตมาลาได้อย่างไร
 
            ต่อกันด้วยเหตุการณ์ที่ 2 อย่าง "พายุสุริยะ" ซึ่งเชื่อกันว่า เหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ แผ่นดินไหว ระบบการปกป้องของโลกจะอ่อนแอลง ทำให้ของเหลวที่อยู่ในโลก แปรปรวน เปลี่ยนแปลง จนทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งก็มีสัญญาณภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ ในหลายประเทศช่วงปีนี้

            ด้าน อาจารย์สธน กล่าวว่า โลกของเราในช่วงนี้เรียกว่าช่วง "โซลาร์แม็กซิมัม" หรือช่วง "อาทิตย์กัมมันต์" ซึ่งเกิดขึ้นทุก 11 ปี และเกิดขึ้นอย่างรุนแรงมาแล้วเมื่อปี 2000 ทั้งนี้ ช่วงอาทิตย์กัมมันต์นั้น เป็นการเกิดปฏิกิริยาของดวงอาทิตย์เอง หากเปรียบเทียบก็คล้าย ๆ กองไฟที่มีเปลวเพลิงกำลังประทุ ซึ่งจะส่งผลต่าง ๆ ในรอบ ๆ บริเวณนั้น ส่วนพายุสุริยะที่เข้าใจกัน จริง ๆ แล้วเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นแทบจะทุกวัน และความรุนแรงก็แตกต่างกัน แต่มีผลกระทบแค่เพียงระบบการสื่อสารในบริเวณชั้นบรรยากาศเท่านั้น 


            สำหรับเรื่องการเกิดแผ่นดินไหวที่เชื่อมโยงกับพายุสุริยะ อาจารย์สธน ได้นำกราฟมาให้ชมเพื่อเปรียบเทียบ โดยสีแดงแทนเหตุการณ์แผ่นดินไหว ส่วนสีน้ำเงินแทนเหตุการณ์พายุสุริยะ ซึ่งเมื่อดูจากกราฟแล้วจะเห็นได้ว่าสีน้ำเงินจะมีกราฟที่สูงต่ำแตกต่างกันไป แต่สีแดงที่เป็นเหตุการณ์แผ่นดินไหวนั้น เกิดขึ้นประจำสม่ำเสมอ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ไม่ว่าจะเกิดพายุสุริยะหรือไม่นั้น ไม่มีผลที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวมากขึ้นหรือน้อยลง

            อย่างไรก็ตาม นิสิตที่คณะได้ทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยได้ศึกษาชั้นบรรยากาศหลังจากการเกิดแผ่นดินไหวในจังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2554 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า หลังจากแผ่นดินไหว จะเกิดผลกระทบในชั้นบรรยากาศไอโนโนสเฟียร์ เพียงแค่ 6 นาที ต่อจากนั้น คลื่นอากาศความถี่ต่ำ จะรบกวนสัญญาณจีพีเอสที่เราใช้กัน  แต่ไม่ได้ทำให้โลกอ่อนแอลงเลย

            อาจารย์สธน กล่าวต่อว่า หากพายุสุริยะจะปะทุแตกแบบยิ่งใหญ่ขึ้นมาจริง ๆ เราก็ไม่สามารถรู้ได้ และการเกิดแผ่นดินไหวก็เป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าเช่นกัน แต่ก็ยังพอจะจับสังเกตจากจำนวนประจุของดวงอาทิตย์ หรือการแผ่พลังงานต่าง ๆ ส่วนทิศทางการเคลื่อนที่นั้น โลกกับดวงอาทิตย์ไกลกันมาก หากมีการปะทุแบบยิ่งใหญ่ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะรบกวนแค่การสื่อสาร ไม่ให้ทำให้สนามแม่เหล็กอ่อนตัว หรือมีผลกระทบจนแกนโลกแตกตัว ของเหลวในโลกขยับ ทำให้เกิดไฟลุกไหม้ อย่างที่พูดต่อ ๆ กันมา


            แต่ทั้งนี้ พายุสุริยะก็อาจจะทำให้สนามแม่เหล็กแปรปรวนได้อย่างมากที่สุด ก็คือทำให้เกิดแสงเหนือ-แสงใต้ ในละติจูด 45 องศา กล่าวคือ ระบบสุริยะ เมื่อเคลื่อนมาเจอสนามแม่เหล็กโลก สนามแม่เหล็กโลกก็จะเบี่ยงทิศทางไปที่ขั้วโลก ไปยังชั้นบรรยากาศโลกของเรา และชนเข้ากับออกซิเจน จนเกิดแสงสว่างสีเขียววาบ ๆ นี่ก็คือการป้องกันพายุสุริยะด้วยกลโลกของโลกเอง โดนจับไปปุ๊บก็ถูกต้านไปโดยไม่ให้ไปถึงพื้นโลก 

            ท้ายนี้ ทางด้านพิธีกรได้กล่าวว่า เท่าที่ทราบคือพายุสุริยะ หากแตกตัวก็จะใช้เวลาเดินทางมายังโลก 4 วัน จึงอยากถามอาจารย์สธนว่า... กล้าขึ้นเครื่องบินไหม ด้านอาจารย์สธน กล่าวตอบว่า "กล้าขึ้น.. ขึ้นได้ไม่มีปัญหา"

            ส่วนในวันนี้ (11 ธันวาคม) ทางรายการจะนำเสนออีก 3 เหตุการณ์ที่อ้างว่าจะทำให้โลกแตก อย่าลืมติดตามชมพร้อมกับไขข้อสงสัยกันได้นะคะ ที่รายการ "เจาะข่าวเด่น" ทางช่อง 3 เวลา 16.20 น.