คำชะโนด...เมื่อพญานาคกำลังถูกท้าทาย




ผมว่าท่านผู้อ่านคงรู้จัก คำชะโนดที่อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี เป็นอย่างดีซึ่งความรู้จักนี้น่าจะโน้มเอียงมาทางเป็นพื้นที่ลี้ลับเป็นดินแดนแห่งนาค
ซึ่งเชื่อว่าเป็นทางขึ้นลงระหว่างโลกมนุษย์กับโลกใต้บาดาลของนาค ยิ่งมีเรื่องเล่าเรื่องผีมาจ้างหนัง ซ้ำมาเจอเรื่องคนแอบแต่งตัวเป็นเปรตแล้วไปถ่ายเป็นวีดิโอมาเผยแพร่ ก็ยิ่งตอกย้ำภาพลักษณ์ของคำชะโนดให้กลายเป็นดินแดนน่ากลัว ดินแดนลี้ลับเหนือการพิสูจน์ ยังดีที่เรื่องเปรตคำชะโนดเป็นเรื่องแหกตา เรื่องจึงไม่ไปจนเกินจะดึงกลับ
แล้วจริงๆ คำชะโนด เป็นอย่างไร ในสายตาผมที่รู้จักคำชะโนดมานานพอควร ตั้งแต่วัดคำชะโนดเป็นวัดบ้านนอก บรรยากาศวังเวง เพราะอยู่ห่างจากชุมชน มีทุ่งที่มีน้ำขังอยู่ตลอดเวลาล้อมรอบ สิ่งปลูกสร้างในวัดมีไม่กี่หลัง และเกาะกลางน้ำใกล้วัดที่เห็นแต่ต้นชะโนดยืนต้นโอนไปเอนมา ตอนไปเห็นครั้งแรกเป็นเพียงสะพานไม้เล็กๆ เวลาเดินเข้าไปต้องตั้งใจไม่อย่างนั้นตกน้ำ เคยถามพระ...เห็นว่าแต่ก่อนสะพานไม้ก็ไม่มีต้องพายเรือเข้าไป เพราะที่เรียกว่า "เกาะ" ก็เพราะว่ามีน้ำล้อมรอบ ขับรถวนดูรอบๆ ได้ เกาะนี้น่าจะเกิดจากกอสวะ เศษพืชน้ำที่ทับถมกันจนมีเนื้อที่นับสิบไร่แบบนี้แล้วมีต้นไม้มาขึ้น ใครเคยไปทะเลสาบอินเลที่พม่า ก็จะพอนึกภาพและรู้สาเหตุว่าเกาะนี้เกิดขึ้นและลอยน้ำได้เพราะอะไร
ความรู้สึกแรกที่เข้าไปในคำชะโนดสำหรับคนที่ไม่เคยมาคือ บรรยากาศวังเวงอย่างมาก แหงนมองไปทางไหนก็เห็นแต่ต้นชะโนดโอนเอียงไปมา ยิ่งวันที่มีลมพัดด้วยแล้ว ต้นชะโนดจะเหมือนมีชีวิตทั้งส่ายทั้งมีเสียง ยิ่งต้นชะโนดขึ้นกันหนาแน่น มองไปเห็นแต่ป่า เห็นแต่ต้นเฟิร์น มีเสียงอยู่ตลอดเวลา ขนาดผมคนเที่ยวป่า เจอบรรยากาศแบบนี้บ่อยๆ ถ้าอยู่ช่วงเย็นโพล้เพล้ ก็เล่นเอาเขวเหมือนกัน
ในนั้นหลักๆ ก็มีต้นชะโนดนี่แหละ ชะโนดเป็นพืชตระกูลปาล์ม รูปร่างเหมือนต้นค้อมากที่สุด เขาเรียกค้อสร้อย (Livistona saribus) หรือสิเหรงของทางใต้นั่นเอง ไม่ใช่พืชหายาก หรือพืชแปลกประหลาดแต่อย่างใดครับ ป่าทางใต้แถวนราธิวาสก็มี แต่ไม่หนาแน่นเท่าที่นี่ ปลูกก็ขึ้น เขาเอามาเพาะกันเยอะแยะไป แต่มันโตช้าไม่เหมือนต้นหมาก ต้นมะพร้าว พวกค้อนี่โตช้า ถ้าจะแปลกหน่อยก็ตรงที่ภาคอีสานไม่เคยเห็นที่อื่นเท่านั้นเอง นอกจากนั้นก็มีพวกเฟิร์นหลายชนิดทั้งที่ขึ้นตามกาบใบตามผิวต้นชะโนด หรือพวกกูดเฟิร์นที่ขึ้นตามพื้นหนาแน่นไปหมด ต้นไทร มะเดื่อ ตีนเป็ด เยอะแยะไปหมด ขึ้นกันหนาแน่น เบียดเสียดแย่งแสงกันจนดูสูงชะลูด
เดี๋ยวนี้สะพานไม้ที่ข้ามไปกลายเป็นสะพานปูนปั้นเป็นพญานาคเจ็ดเศียรขนาบข้าง ยาวราว 100 เมตร ถอดรองเท้าตามกฎของสถานที่แล้วเดินบนสะพานข้ามน้ำ เข้าป่าชะโนดและไปสิ้นสุดที่หน้าศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ ซึ่งเป็นพญานาคที่เมื่อขึ้นสู่โลกมนุษย์ก็จะเป็นมนุษย์ชื่อ ศรีสุทโธ มีชาวบ้านไปไหว้บูชากันเยอะแยะ เดินไปตามทางอีกนิดจะเป็นบ่อน้ำซึ่งว่ากันว่าเป็นทางที่พญานาคขึ้นจากโลกบาดาลมายังโลกมนุษย์ บ่อน้ำนี่ไม่เคยแห้ง ผมว่าแหงละครับถ้าน้ำรอบเกาะนี้แห้ง แล้วน้ำในนี้ยังมีค่อยน่าทึ่งหน่อย แต่น้ำพุ น้ำผุดก็มีอยู่มากมายในบ้านเรา ไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ที่ไม่เชื่อเลยคือที่ว่าลึกขนาดไม้ไผ่ต่อกัน 6 ลำหยั่งไม่ถึง (อันนี้ไม่เชื่อเด็ดขาด ขนาดแม่น้ำโขงที่ว่าลึกมาก ไปดำตอนสำรวจพระธาตุกลางน้ำ ยังไม่เห็นลึกเลย เคยมีรายการโทรทัศน์เขาดำน้ำลงไปพิสูจน์ใต้คำชะโนด เห็นแต่รากไม้และน้ำขุ่น คนที่ดำน้ำลงไป เขาว่าเขารู้สึกอึดอัด  ซึ่งถ้าดำน้ำในที่บีบๆ รกๆ เจอสาหร่ายต้นยาวๆ พันแข้งพันขา ก็อึดอัดทั้งนั้น แต่ถ้าทะเลเรียบกริ๊บ น้ำใส จะรู้สึก โปร่ง สบาย ดำน้ำสนุก) ส่วนอีกด้านก็จะเป็นทางเดินไปดูต้นไทรรากแผ่สวยที่ชาวบ้านเอาแป้งมาทาแล้วขัดหาหวยกันขาวโพลนไปหมด มีศาลเล็กแทบเต็มโคนต้น ผ้าเขียวผ้าแดงผูกเต็มไปหมด ผมเดินไปดูคนเดียวตอนเย็นๆ ต้องรีบเผ่นออกมาแทบไม่ทัน...ยุง
ผมนับถือพุทธศาสนา แต่ก็ไหว้ศาล ไหว้ต้นไม้เหมือนกัน เพราะตอนที่เราไหว้เราไม่ได้คิดว่าเป็นต้นไม้ แต่คิดถึงคุณงามความดีของธรรมชาติ สิ่งดี การไหว้คือการยอมรับอำนาจของความดี ให้ความเคารพ คนที่ไปไหว้บูชาศาลเจ้าปู่ศรีสุทโธ จึงไม่ใช่เรื่องงมงาย ไม่ว่านาคศรีสุทโธมีจริงหรือไม่ แต่การที่คำว่า "นาคศรีสุทโธ" ยังมีอิทธิพลคุ้มครองธรรมชาติของคำชะโนดให้คงอยู่ การที่ผู้คนจะระลึกถึงคุณงามความดีของเจ้าปู่ศรีสุทโธจึงไม่ใช่เรื่องผิด
แล้วบรรดากฎกติกาทั้งหลายในการเข้ามายังเกาะคำชะโนดอย่างให้ถอดรองเท้า ไม่ใส่หมวก ไม่ถือร่ม (ในนั้นมีร่มเงาไม้อยู่แล้ว) ผมว่าจะมีเหตุผลเหลือเชื่ออะไรก็ตามที แต่อย่างน้อยก็เป็นกฎเกณฑ์ให้คนรู้จักเคารพสถานที่ เคารพกติกาของสถานที่ (ไม่ใช่ไม่ชอบใจอะไร ไม่ถูกใจอะไรก็มาปิดถนน เผาแม่งเลย อะไรพวกนี้) อย่างน้อยการมาสถานที่เล็กๆ อย่างคำชะโนดก็สะท้อนถึงวินัยและการอยู่ร่วมกันของผู้คนในสังคมโดยเคารพกติกาเดียวกัน
ที่สำคัญความน่าเกรงขามนี้ทำให้อิทธิพลของสิ่งลี้ลับที่เชื่อกันยังคงคุ้มครองธรรมชาติของป่าคำชะโนด ให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่าน่ามาเยี่ยมชมของ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี แม้โลกภายนอกจะเปลี่ยนไปอย่างไรก็ตามที แต่เมื่อเข้าไปในคำชะโนด เหมือนเราหลุดเข้าไปในโลกโบราณ เพราะต้นชะโนด ต้นไม้อื่นๆ ชาวบ้านเขารักษา ดูแล ไม่ตัด ไม่ทำลาย ด้วยเชื่อว่าเป็นทางขึ้น-ลง ของนาค เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ วัดคำชะโนดเดี๋ยวนี้มีศาลาหลายหลัง มีพระพุทธรูป มีลานจอดรถ ตลาดนัดเกิดขึ้นเยอะแยะไปหมด แต่ภายในคำชะโนดก็ยังคงวังเวง เสียงลมโยกใบ ลำต้นส่ายไปมา ผ่านมากี่วันกี่ปีก็ไม่เปลี่ยนแปลง
หลังจาก ครม.ชุดนี้ไปประชุมสัญจรที่อุดรธานีเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ เห็นว่าทางจังหวัดของบประมาณนับพันล้านบาทเพื่อพัฒนาคำชะโนดให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าทุกวันนี้คำชะโนดไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวหรือ แล้วจะต้องพัฒนาอะไร จะพัฒนาไปในรูปแบบไหน สร้างตึก อาคารทันสมัย  ล้อมรอบคำชะโนดหรือ  ขุดลอก ปรับแต่งคำชะโนดให้ดูทันสมัยโปร่งตาหรืออย่างไร
คำว่า “พัฒนา” ที่ทางจังหวัดขอเงินไปเป็นพันล้านนี้ เชื่อว่าจะมีแต่การก่อสร้างถาวรวัตถุทั้งหลาย เพราะงบประมาณมันจะหายหกตกหล่นได้ง่าย ตอนนี้ที่ไหนๆ ตั้งแต่ระดับประเทศถึงระดับท้องถิ่นก็มีแต่โครงการสร้างนั่นสร้างนี่ทั้งนั้น แต่เมื่อมองย้อนว่าแล้วการพัฒนาทางจิตใจที่ให้คนยังคงยึดมั่นในความดี  ในการทำความดี เคารพธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของชุมชนที่บารมีอิทธิพลของเจ้าปู่ศรีสุทโธเคยแผ่ปกป้องคำชะโนดมานั้น มีบ้างไหม 
เหลือแต่คนอุดรฯนี่แหละครับว่ายังคงศรัทธานาคศรีสุทโธ ตัวแทนแห่งความดี หรือนักการเมืองเลว ข้าราชการขี้ฉ้อ ถึงเวลาที่ต้องเลือกข้างแล้วครับ...