แผ่นน้ำแข็งมหึมาแตกตัว ชี้ผลจากสภาพอากาศเปลี่ยน











          เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า แผ่นน้ำแข็งขนาดมหึมาใหญ่กว่าเมืองแมนฮัตตัน 2 เท่า แตกตัวออกจากช่วงปลายของธารน้ำแข็งกรีนแลนด์ ซึ่งเป็นไปตามที่นักวิทยาศาสตร์พยากรณ์ไว้อย่างแม่นยำเมื่อฤดูใบไม้ร่วงปี 2011 ที่ผ่านมา และนับได้ว่าการแตกตัวครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 2 ปีเท่านั้น

          รายงานระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยแผ่นน้ำแข็งยักษ์นี้มีขนาดประมาณ 74 ตารางกิโลเมตร และแตกออกจากส่วนปลายของธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนน์ ซึ่งเป็นธารน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดของกรีนแลนด์

          โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2010 ก็เคยเกิดเหตุธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนน์แตกหรือแยกตัวครั้งใหญ่ที่สุด โดยในครั้งนั้นมีขนาดใหญ่เกือบ 4 เท่าของแมนฮัตตัน ซึ่งถือเป็นแตกตัวครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ในกรีนแลนด์เลยทีเดียว

          ด้าน อันเดรียส มึนโชว อาจารย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลและวิศวกรรมที่มหาวิทยาลัยเดลาแวร์ กล่าวว่า  แม้ว่าการแตกตัวครั้งใหม่นี้จะไม่ใหญ่โตเท่าคราวก่อน แต่หนนี้มันผลักให้ส่วนปลายด้านหัวของธารน้ำแข็งยักษ์ขยับห่างจากแผ่นดินมากที่สุดในรอบ 150 ปี โดยสาเหตุที่แผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์กำลังละลายและลดขนาดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากสภาพอากาศของโลกและอุณหภูมิมหาสมุทรที่เปลี่ยนไป

          ขณะที่ทางด้าน เจสัน บ็อกซ์ นักวิทยาศาสตร์ของศูนย์วิจัยไบร์ด โพลาร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอไฮโอ ก็เฝ้าศึกษาและจับตาธารน้ำแข็งปีเตอร์แมนน์เช่นกัน และในเดือนกันยายน 2011 เขาเคยพยากรณ์ไว้ว่าจะพบการแตกตัวของธารน้ำแข็งหนักหน่วงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อสภาพอากาศอบอุ่นเข้าปกคลุมดินแดนแถบนี้ในช่วงฤดูร้อน พร้อมกับระบุว่า เราพบเห็นรอยแยกขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงปีก่อน ๆ ผ่านภาพถ่ายทางดาวเทียม แม้การแตกตัวของแผ่นน้ำแข็งจะเป็นเรื่องธรรมชาติ และเป็นกระบวนการที่เป็นวัฏจักร แต่หนล่าสุดกระบวนการผ่านไปอย่างรวดเร็วจนผิดสังเกตและอาจส่งผลต่อเนื่องตามมา